ดรีมแมตช์! อาร์เจนติน่า ฟัด ฝรั่งเศส ชิงแชมป์โลก 2022

||||

โนมอร์ดาร์กฮอร์ส ไม่มีแล้วม้ามืดม้าดำอะไรที่ไหน นี่คือ “เกมในฝัน” ของสองยักษ์ต่างทวีปที่จะต้องมาฟาดฟันกันเพื่อเอาอกแตะเส้นชัย

ก็อีกเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น นัดชิงชนะเลิศที่โลกต่างจับตา แมตช์ตัดสินว่าใครจะเป็นเจ้าของโทรฟี่แชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ก็จะมาถึง

ระหว่าง อาร์เจนติน่า กับ ฝรั่งเศส ไม่ว่าคุณถือหางฝั่งไหน ก็ต้องลุ้นกันไปด้วยใจระทึก!

กว่าจะถึงชิงดำ ฟ้าขาว กับ ตราไก่

บนเส้นทางแห่ง เวิลด์ คัพ ฉบับกาตาร์ โฟกัสอยู่ที่ฝั่ง อาร์เจนติน่า ซึ่งมาตามหาแชมป์โลกสมัย 3 ด้วยทรง “หรูหรา” เป็นที่สุด ยืนระยะไร้พ่ายยาวนานถึง 36 นัด เป็นรองเพียงสถิติโลกของ อิตาลี ชุดแชมป์ยูโร 2020 เท่านั้น

ภายใต้การทำทีมของ ลิโอเนล สคาโลนี่ อันที่จริง โค้ชหนุ่มวัย 44 ถูกปรามาสถึงฝีไม้ลายมือไว้ไม่น้อย เมื่อเขาไม่เคยได้จับงานคุมทีมสโมสรใดมาก่อนเลย — หากยังพอจำกันได้ นี่คือกองหลังเกรดกลางๆ ของ เดปอร์ติโบ ลา กอรุนญ่า รวมถึงมีช่วงที่มาแวะ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด กับ ลาซิโอ อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะแขวนสตั๊ดเลิกเล่นกับ อตาลันต้า ในปี 2015 นี่เอง

แต่ทั้งที่มาอย่างไม่คาดหวัง แต่ก็ไปไกลกว่าที่คาดคิดเยอะ…ถึงเยอะมาก

สคาโลนี่ เข้ามาเป็นผู้ช่วย ฮอร์เก้ ซัมเปาลี ในช่วงปี 2017 ซึ่งเมื่อ อาร์เจนติน่า ล้มเหลวกับฟุตบอลโลก 2018 แล้ว ซัมเปาลี ถูกเด้งพ้นไป สคาโลนี่ ก็ยังคงได้จับงานกับทีมชาติต่อ–ในฐานะกุนซือรักษาการร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ปาโบล ไอมาร์ และขึ้นคุมเดี่ยวๆ หลังจากนั้นไม่นาน

อย่างที่ว่า การนั่งเก้าอี้แบบ “ไร้ดีกรี” ทำให้ สคาโลนี่ ถูกปรามาสถึงฝีมือไว้เยอะ…เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกเสียงครหาก็เปลี่ยนเป็นเสียงปรบมือ

สคาโลนี่ กลายเป็น “คนที่ใช่” ของ อาร์เจนติน่า ไปเสียเฉยๆ ด้วยผลงานประจักษ์ชัดอย่างแชมป์โคปา อเมริกา 2021 แถมจากแมตช์สู่แมตช์ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี อาร์เจนติน่า ของ สคาโลนี่ ก็กลายเป็นเบอร์ 2 “สถิติโลก” ไร้พ่ายยาวนานที่สุดในบรรดาทีมชาติ เป็นจำนวน 36 นัดทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อฟุตบอลโลก 2022 มาถึง ปรากฏว่า อาร์เจนติน่า ก็กลับทำเรื่องพลิกล็อกช็อกโลก ด้วยการสะดุดล้มหัวทิ่มหัวตำตั้งแต่เกมแรกมันเสียเลย 

เกมนัดแรกของกลุ่มซี “ฟ้าขาว” ที่นำมาโดย ลิโอเนล เมสซี่, อังเคล ดิ มาเรีย, เลาตาโร่ มาร์ติเนซ ลงสนามพบตัวแทนเอเชียตะวันออกกลางอย่าง ซาอุดีอาระเบีย ด้วยความมั่นใจต่อชัยชนะ โดยเฉพาะการเล่นที่ครึ่งแรกเหนือกว่ามาก ขึ้นนำ 1-0 อย่างรวดเร็วในเพียงนาทีที่ 10 จากจุดโทษของ ลิโอเนล เมสซี่ และหลังจากนั้นทั้ง เมสซี่ และ เลาตาโร่ มาร์ติเนซ ต่างสบโอกาสทะลุเข้าซัดจมตาข่ายถึง 3 รอบ แต่กลับถูกจับล้ำหน้าไปทั้งหมด

กลายเป็นว่าครึ่งหลัง ซาอุฯ ของกุนซือชาวฝรั่งเศส แอร์กเว่ เรอนาร์ แก้เกมมาอย่างเหนือชั้น แซงนำ 2-1 จากการยิงของ ซาเลห์ อัล-เชห์รี น.48 และ ซาเล็ม อัล-ดอว์ซารี น.53 พร้อมกับมีช็อตเซฟสำคัญ 2-3 หนจากนายทวาร โมฮัมเหม็ด อัล-โอวาอิส จนสุดท้ายเกมก็จบลงด้วยชัยชนะสุดยิ่งใหญ่ของ ซาอุฯ

กระนั้น การแพ้ตั้งแต่เกมแรก ก็คงเป็นเหมือนการตบหน้าเรียกสติ สคาโลนี่, เมสซี่ และนักเตะฟ้าขาวทุกรายว่า ในฟุตบอลโลก สิ่งที่ต้องการคือความ “เนี้ยบ” ในทุกเกม และไม่อาจประมาทคู่แข่งหน้าไหนได้เลย

เกมสอง สถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขาจะพลาดไม่ได้อีกแล้ว แต่แม้ต้องลุ้นเหนื่อยไม่น้อยกับเกมดึงช้าของ เม็กซิโก กว่าที่จะได้ประตูนำก็ในนาที 64 จากลูกส่องไกลนอกเขตโทษของ เมสซี่ แต่เมื่อ เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ ส่องผ่าน กิเยร์โม่ โอชัว ตอนท้ายเกม ก็เท่ากับ อาร์เจนติน่า ปิดกล่องกำชัย 2-0 และได้ลุ้นเต็มที่สำหรับการไปต่อรอบน็อกเอาต์

ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรแทรกซ้อนเพิ่มเติม

เกมปิดกลุ่มซี อาร์เจนติน่า ปราบ โปแลนด์ 2-0 แบบแทบจะพับสนามบุกใส่ฝ่ายเดียว สร้างโอกาสยิงประตูรวม 24 ครั้ง แถม เมสซี่ มีพลาดจุดโทษในครึ่งแรก ก่อนฟ้าขาวได้เฮจาก อเล็กซิส แม็คอัลลิสเตอร์ น.46 และ ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ น.67 ส่งผลให้ อาร์เจนติน่า ยังคงผงาดแชมป์กลุ่มซีได้อยู่ แม้จะออกสตาร์ทด้วยความพ่ายแพ้ก็ตาม

ถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย อาร์เจนติน่า คุมสถานการณ์ในครึ่งแรกได้ดีกว่า ออสเตรเลีย อย่างชัดเจน ขึ้นนำ 1-0 จากการยิงฝ่าวงล้อมแข้งจิงโจ้ของ เมสซี่ น.35 ก่อนที่ครึ่งหลัง อาร์เจนติน่า จะฉีกสกอร์หนี 2-0 จากความผิดพลาดของ แม็ต ไรอัน นายทวารทีมจิงโจ้ ที่ยึกยักหน้าประตูจนโดนฉกลูก และ ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ ยิงง่ายๆ เข้าไปในนาที 57 

ท้ายเกม น.77 ออสเตรเลีย ไล่มา 1-2 จากการยิงของ เคร็ก กู๊ดวิน ที่ไปโดนตัว เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ เข้าไป (นับเป็นการทำเข้าประตูตัวเอง) ซึ่งทำให้ อาร์เจนติน่า สั่นไหวพอสมควร ออสเตรเลีย มีโอกาสทวง 2-2 ได้ด้วยตอนเฮือกท้าย เจ้าหนูเด็ก 18 กาแร็ง คูโอล สบโอกาสเข้าทำระยะอันตราย ไม่ผ่านเซฟ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ อย่างหวุดหวิด

8 ทีมสุดท้าย เป็นการดวลกันของ เนเธอร์แลนด์ ที่ยังไม่เคยแพ้ใครในยุค หลุยส์ ฟาน กัล (19 นัด) ส่วน อาร์เจนติน่า ก็แพ้เกมเดียวถ้วนจาก 40 นัดหลังสุด

เกมดูเหมือนจะเป็นงานสบายของ อาร์เจนติน่า เมื่อขึ้นนำในเวลาเพียงไม่นานนัก น.35 ลิโอเนล เมสซี่ แทงทะลุช่องแบบเหนือๆ ให้ นาอูเอล โมลิน่า จิ้มสวนตัวนายทวารเข้าไปเป็น 1-0 ก่อนตามด้วยครึ่งหลัง น.72 เดนเซล ดุมฟรีส์ ทำเสียฟาวล์เป็นจุดโทษ ซึ่ง เมสซี่ ก็กดเข้าไปไม่พลาดเป็น 2-0 

อย่างไรก็ตาม 7 นาทีท้ายรวมทดเจ็บ 10 นาที เนเธอร์แลนด์ ก็กลับมาสู่เกมได้สำเร็จ จากลูกโขกเปลี่ยนทางของหอกสำรอง วู้ท เว้กฮอร์สท์ น.83 และฟรีคิกอึดใจท้ายที่ เคร์มัน เปซเซลล่า ทำเสียหน้าเขตโทษ เทน ค็อปไมเนอร์ส เล่นลูกสูตรเขี่ยขึ้นหน้าให้ เว้กฮอร์สท์ รับลูกแล้วกลับตัวซัดด้วยซ้ายเข้าไปอย่างยอดเยี่ยม ตีเสมอ 2-2 ตอนทดเจ็บ 90+11 

ช่วงต่อเวลาพิเศษไม่มีการยิงเพิ่ม โดยนาทีสุดท้าย เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ ซัดไกลหน้าเขตโทษไปชนเสาเข้าอย่างจัง ส่งผลให้ 120 นาทีจบลง เสมอ 2-2 และต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษต่อเนื่องอีกเกม

เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ กดติดเซฟ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ ตามด้วย สตีเฟ่น เบิร์กฮุยส์ ก็ยิงติดเซฟเช่นกัน ส่วนทางฝั่ง เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ เป็นคนเดียวของอาร์เจนติน่าที่ซัดพลาดหลุดกรอบไปเอง ส่วนทั้ง เมสซี่, เลอันโดร ปาเรเดส, กอนซาโล่ มอนเทียล และมือสังหารปิดท้าย เลาตาโร่ มาร์ติเนซ ต่างก็ซัดไม่พลาด ส่งผลให้ อาร์เจนติน่า ชนะดวลเป้า 4-3 ผ่านเข้ารอบตัดเชือกไปพบกับ โครเอเชีย 

เมื่อชีวิตคือการซึมซับบทเรียนรูปแบบต่างๆ ฟุตบอลเองก็คงไม่ต่างกัน

อาร์เจนติน่า รู้แล้วว่าตัวเองมีอาการ “แผ่วปลาย” ในทั้งสองรอบก่อนหน้า ฉะนั้นจะต้องทำอย่างไรล่ะเพื่อให้ผ่านเกมตัดเชือกไปได้แบบไม่มีสะดุด

คำตอบก็คือ “ยิงให้ขาด” จนไม่ต้องมากังวลตอนท้ายอีก นั่นเอง

รอบตัดเชือก อาร์เจนติน่า v โครเอเชีย 15 นาทีแรกเกมยังตึงๆ ต่างฝ่ายต่างดูเชิงกันก่อน ทำให้ไม่มีโอกาสจบสกอร์แม้แต่ครั้งเดียว แต่แล้วจู่ๆ น.32 ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญเมื่อ ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ ได้บอลตักข้ามแผงหลังมาให้ทะลุเข้าเขตโทษไปแตะหนี โดมินิก ลิวาโควิช ก่อนโดนชนล้ม ผู้ตัดสินชี้จุดโทษแบบไม่เช็กวีเออาร์ ซึ่งก็เป็น เมสซี่ นั่นเองที่หยิบบอลมาสังหารด้วยซ้ายเสยเพดานตาข่ายอย่างเฉียบคม อาร์เจนติน่า ขยับนำ 1-0 

แล้วเมื่อตั้งเกมเล่นกันใหม่ สกอร์ก็ไหลขึ้น 2-0 เสียดื้อๆ อีก จากจังหวะเตะมุมของโครเอเชียเองที่โดนสวนเร็ว ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ กระชากลุยเดี่ยวขึ้นหน้ามาจนจุดอันตราย ปรากฏว่าทั้ง โยซิป ยูราโนวิช และ บอร์นา โซซ่า กลับสกัดบอลแป้กงัดไม่ออก ลูกไม่ไปไหน ยังคงเข้าทาง อัลวาเรซ ดีดผ่าน ลิวาโควิช เข้าไปง่ายๆ 2-0 ในนาที 39

ครึ่งหลัง เกมของ โครเอเชีย ยกระดับทำได้ดีขึ้น กระนั้นก็กลายเป็นว่าเกมต้องปิดสนิทด้วยสกอร์ 3-0 ของอาร์เจนติน่า น.69 เมสซี่ เลี้ยงเลาะโชว์ความเหนือชั้นที่สุดเส้นหลังขวาโดยที่ ยอสโก้ กวาร์ดิโอล เอาไม่อยู่ เมสซี่ จ่ายเข้าไปให้ ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ กดด้วยขวาเข้าไปไม่เหลือ 3-0

การไม่ปล่อยให้แผ่วปลายซ้ำสาม ส่งให้ อาร์เจนติน่า เข้าไปชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 6 และยังคงรักษาสถิติสุดยอด “ชนะรอบตัดเชือกทุกครั้ง” ในฟุตบอลโลก เอาไว้กับตัวต่อไป

แชมป์นี้ที่ อาร์เจนติน่า ต้องรอคอยมากว่า 3 ทศวรรษ

ต่างไปจาก ฝรั่งเศส ที่สร้างมาตรฐานเอาไว้สูงมาก ครองแชมป์โลก 2 สมัยในฟุตบอลยุคโมเดิร์น (1998, 2018) พร้อมกับเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งที่ 4 ในเพียง 7 ทัวร์นาเมนต์หลังสุด

อาร์เจนติน่า… ทั้งที่เคยมีสุดยอดดาวเตะอย่าง ดีเอโก้ มาราโดน่า, เคลาดิโอ คานิกเกีย, กาเบรียล บาติสตูต้า, ฮวน โรมัน ริเกลเม่, เฟร์นานโด เรดอนโด้, ดีเอโก้ ซิเมโอเน่, มาร์ติน ปาแลร์โม่, ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ, วอลเตอร์ ซามูเอล ฯลฯ หรือล่วงเลยมาในยุค ลิโอเนล เมสซี่, กอนซาโล่ อิกวาอิน, อังเคล ดิ มาเรีย, ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ ฯลฯ ในทีม แต่จะว่า “โชคไม่เข้าข้าง” เท่าไหร่นักก็อาจได้ เมื่อมีวาสนาไปถึงบัลลังก์แชมป์โลกได้แค่ 2 สมัยเท่านั้น

สำคัญคือ หนล่าสุดเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 36 ปีที่แล้วโน่น

ถัดจากการโชว์ของ ดีเอโก้ มาราโดน่า ผู้ซึ่งพา อาร์เจนติน่า เข้าเส้นชัยแชมป์โลกสมัย 2 เมื่อปี 1986 แล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในทุกๆ 4 ปีให้หลัง

1990 เข้าชิงต่อเนื่อง แต่แพ้ เยอรมนีตะวันตก 0-1

1994 ร่วงรอบ 16 ทีม แพ้ โรมาเนีย 2-3

1998 ร่วงรอบ 8 ทีม แพ้ เนเธอร์แลนด์ 1-2

2002 ล้มเหลวหนักด้วยการตกรอบแรก ยุค มาร์เซโล่ บิเอลซ่า

2006 หลุดที่รอบ 8 ทีม แพ้ เยอรมนี (เจ้าเก่า) ในการดวลจุดโทษ 2-4

2010 ยังคงตก 8 ทีมซ้ำ แพ้ เยอรมนี (อีกแล้ว) ขาดลอย 0-4

2014 เข้าชิงอีกครั้ง และก็แพ้ เยอรมนี อีกครั้งตอนต่อเวลา 0-1

2018 หล่นเร็วแค่รอบ 16 ทีม แพ้ ฝรั่งเศส 3-4

เดี๋ยวตกรอบลึก บางทีตกรอบเร็ว นานวันเข้าก็ผ่านไปถึง 8 ทัวร์นาเมนต์ 8 การผจญภัยฟุตบอลโลก

36 ปีเต็ม ถัดจากการชูโทรฟี่ของ มาราโดน่า ในวันนั้น…

คำถามคือ ถ้าไม่ได้ในครั้งนี้ จะต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่ อีก 4 ปี-แปดปี-สิบสองปี-ยี่สิบปี-สามสิบปี เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นแล้วกับ อังกฤษ ที่หยุดนิ่งกับแชมป์สมัยแรกและสมัยสุดท้าย 1966 ไม่มีขยับขึ้น

ดังนั้น มันจึงสำคัญมาก สำคัญมากๆ ที่ อาร์เจนติน่า จะต้องทำให้ได้

ในวันอาทิตย์นี้ที่ ลูเซล ไอคอนิก สเตเดี้ยม

ฝรั่งเศส : อุปสรรคมีไว้ก้าวข้าม

แม้หลายฝ่ายยังเชื่อมั่นในฝีมือของพวกเขา เชื่อในขุมกำลังที่ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ มีอยู่ แต่ด้วยหลายๆ ปัจจัย ก็ทำให้บางฝ่าย กาชื่อแชมป์เก่าอย่าง ฝรั่งเศส ทิ้งไปตั้งแต่แรกแล้วเหมือนกัน

ปัจจัยสี่ซ้าห้าอย่าง อย่างเช่น

1) อาถรรพ์แชมป์เก่า 

ทั้ง อิตาลี, สเปน, เยอรมนี ต่างเอาตัวไม่รอด เป็นแชมป์โลกมาแล้วก็ร่วงเพียงรอบแรกของทัวร์นาเมนต์ถัดมาทั้งหมด จนกลายเป็นอาถรรพ์สำคัญของฟุตบอลโลกหลายปีหลัง

2) ขุมกำลังไม่ค่อยพร้อม

เอ็นโกโล่ ก็องเต้, ปอล ป๊อกบา, โกร็องแต็ง โตลิสโซ่, ไมค์ เมนยอง, เพรสแนล คิมเพ็มเบ้, คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู, คาริม เบนเซม่า, ลูคัส เอร์นันเดซ ทยอยกันถอนตัวทีละคนสองคน เนื่องด้วยปัญหาบาดเจ็บ จนขุมกำลังแตกต่างจากชุดแชมป์โลก 2018 ค่อนข้างมาก

3) การต้องเจอของแสลงอย่าง เดนมาร์ก อีกแล้ว

ฝรั่งเศส แพ้ให้กับ เดนมาร์ก มาทั้งเหย้าเยือนใน ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก (1-2, 0-2) รอบปีที่ผ่านมา หากยังคงซ้ำแผลเก่า แพ้ทีมโคนมเป็นครั้งที่ 3 ติดกันขึ้นมา ก็มีสิทธิ์กลับบ้านแต่เนิ่นๆ

4) เข้าสู่ทัวร์นาเมนต์ด้วยฟอร์มน่าเป็นห่วง

ตราไก่ชนะเกมเนชั่นส์ ลีก ช่วงกลางปี แค่นัดเดียวเหนือ ออสเตรีย 2-0 นอกนั้นเสมอ 2 แพ้ 3 พวกเขาอาจอ้างได้ว่าเพราะเจอปัญหาบาดเจ็บของแข้งหลายราย แต่นั่นก็ส่งผลกับการเตรียมทีมลุยบอลโลกโดยตรง และเมื่อถึงเกมบอลโลก ก็จะอ้างไม่ได้แล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ เวิลด์ คัพ ฉบับกาตาร์ มาถึง…

เกมแรก กลายเป็น ออสเตรเลีย พังตาข่ายนำไปก่อนอย่างเซอร์ไพรส์จาก เคร็ก กู๊ดวิน ในนาทีที่ 9 ทว่าหลังจากนั้นเมื่อ “เลส์ เบลอส์” ตั้งหลักได้แล้วก็ลุยเข้าใส่เป็นพายุ จนได้ประตูแบบดาหน้าเรียงยิง 1-1 อาเดรียง ราบิโอต์ น.27, 2-1 โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ น.32, 3-1 คีลิยัน เอ็มบัปเป้ น.68 และ 4-1 ชิรูด์ เบิ้ลปิดกล่อง น.71 โดยที่เกมนี้ ฝรั่งเศส สร้างโอกาสยิงรวมได้ถึง 22 ครั้งทีเดียว

เกมสอง นัดล้างตากับ เดนมาร์ก ตราไก่เป็นฝ่ายขึ้นนำก่อนจาก คีลิยัน เอ็มบัปเป้ น.61 ก่อนที่ อันเดรียส คริสเตนเซ่น จะโขกเตะมุมให้ เดนมาร์ก ตามทวง 1-1 ในเจ็ดนาทีให้หลัง แต่ในขณะที่เกมกำลังจะจบลงด้วยการแบ่งแต้ม ฝรั่งเศส ก็ได้เฮสนั่นรับประตูชัย 2-1 ในนาทีที่ 86 อองตวน กรีซมันน์ เปิดผ่านมาเสาสองให้ เอ็มบัปเป้ พุ่งเข้าฮอส

สองนัด 6 แต้มเต็ม ฝรั่งเศส การันตีเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นทีมแรกของทัวร์นาเมนต์

(เกมสาม ไม่ต้องพูดถึงก็ได้ กับการส่งชุดสอง สำรองยกแผงลงไปแพ้ ตูนิเซีย 0-1 แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบกับตำแหน่งแชมป์กลุ่ม)

น็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย ฝรั่งเศส พบ โปแลนด์ และจัดเป็นงานง่ายกว่าที่คิด โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ เปิดสกอร์นำ น.44 และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เบิ้ลสอง น.74 และ 90+1 ก่อนที่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ จะทำได้แค่ยิงจุดโทษตีไข่แตก 1-3 ช่วงทดเจ็บ 90+9 

รอบ 8 ทีม มีการมองกันว่า 50:50 ด้วยความที่ อังกฤษ ดูกำลังมาแรงอย่างน่ากลัว แต่ก็อีกนั่นแหละ ตั๋วได้ไปต่อก็ยังคงอยู่มือ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ และชาวคณะ ภายหลังขยับสกอร์นำ 1-0 อย่างรวดเร็ว ออเรเลียง ชูอาเมนี่ ตะบันจากหน้าเขตโทษผ่านมือ จอร์แดน พิคฟอร์ด เข้าไปในนาทีที่ 17 จากนั้น อังกฤษ ทวงคืน 1-1 ตอนต้นครึ่งหลัง จากจุดโทษที่ ซาก้า โดน ชูอาเมนี่ ขัดขาล้มลงไป และ แฮร์รี่ เคน ตะบันผ่าน อูโก้ โยริส ไม่พลาด ทว่าเข้าช่วงท้ายเกม นาที 78 กรีซมันน์ ก็ครอสแม่นๆ ให้ ชิรูด์ ทิ่มโขกตัดหน้า แม็กไกวร์ เข้าไปให้ ฝรั่งเศส นำ 2-1

ท้ายเกมจากนั้นอีก อังกฤษ มีโอกาสดีในการตามตีเสมอรอบสอง เมื่อมาได้จุดโทษจากวีเออาร์ที่ตัวสำรอง เมสัน เมาท์ โดน เตโอ เอร์นันเดซ กระแทกล้มหน้าทิ่ม อย่างไรก็ตาม แฮร์รี่ เคน กลับสังหารจุดโทษข้ามคานออกไปอย่างน่าผิดหวัง รวมถึงฟรีคิกหน้าเขตโทษในช่วงทดเวลาเฮือกสุดท้าย มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็กดเสยคานออกไปแค่คืบเท่านั้น จนจบที่ ฝรั่งเศส กำชัย 2-1

ปิดที่รอบตัดเชือก หลายฝ่ายก็มองกันว่า 50:50 เหมือนกัน กับคู่ต่อกรที่มาแบบ “ไม่มีอะไรจะเสีย” อย่าง โมร็อกโก ผู้สร้างประวัติศาสตร์มาถึงตัดเชือกได้เป็นทีมแรกของแอฟริกา/อาหรับ และผ่านทีมแข็งอย่าง สเปน และ โปรตุเกส มาใน 2 รอบน็อกเอาต์

แต่โทษที…นี่ตราไก่ไงเพื่อน

เริ่มเกมไปเพียง 5 นาที ฝรั่งเศส ก็ได้เฮรับ 1-0 ทันทีจากโอกาสจบเพียงหนแรกของเกม อองตวน กรีซมันน์ ถ่ายลูกให้ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ซัดสองจังหวะไปแฉลบกองหลังเด้งขึ้นหน้า กลายเป็นเข้าทางแบ็กซ้าย เตโอ เอร์นันเดซ ลอยตัววอลเลย์ผ่าน ยาสซีน บูนู เข้าไปอย่างยอดเยี่ยม 

แม้หลังจากนั้น โมร็อกโก จะสู้ได้ดีอย่างน่ายกย่อง แต่เมื่อถึงนาที 79 ฝรั่งเศส ก็ฉีกสกอร์เป็น 2-0 เบ็ดเสร็จ เอ็มบัปเป้ พยายามยิงฝ่าแนวรับแต่ไม่ผ่าน ทว่าก็กลายเป็นลูกแฉลบขึ้นหน้าไปเสาไกลคล้ายประตูแรก จนหอกสำรองที่เพิ่งลงสนามไปแค่ 44 วินาที ร็องดาล โคโล่ มูอานี่ สบโอกาสวิ่งเข้าชาร์จนิ่มๆ พาตราไก่สยายปีก 2-0 

ฝรั่งเศส กำชัย 2-0 กรีธาทัพเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน และเป็นครั้งที่ 4 แล้วในเพียง 7 ทัวร์นาเมนต์หลังสุด รวมถึงว่ายังมีลุ้นเป็นชาติที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้ ถัดจาก อิตาลี 1938-1942 และ บราซิล 1958-1962 

นี่คือก้าวเดินอันน่าประทับใจของ ฝรั่งเศส ท่ามกลางอุปสรรคนานับประการที่กั้นขวางในตอนแรกเริ่มรายการ

ดุดันไม่เกรงใจใคร… ของแท้แน่นอนต้อง ฝรั่งเศส!

ระหว่างพี่กับน้อง…ระหว่าง เมสซี่ กับ เอ็มบัปเป้

เห็นหน้าเห็นตากันอยู่ทุกเช้าสาย ลงเล่นเคียงข้างกันในทุกเย็นค่ำ 

การประสานงานของ ลิโอเนล เมสซี่ กับ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ (และ เนย์มาร์) เล่นงานคู่แข่งใน ลีก เอิง จนกระเจิดกระเจิง ไม่เว้นในเวทียุโรป ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ก็โหดห้าวไม่กลัวใครเช่นกัน

แต่จากพี่น้องร่วมสังกัดในวันนั้น จะต้องมาฟาดฟันกันด้วยชีวิตและหัวจิตหัวใจในวันนี้

เพราะประกาศไว้ตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ยังไม่เริ่ม “ฟุตบอลโลก 2022 จะเป็นบอลโลกหนสุดท้ายของผม” ดังนั้น เมสซี่ จึงใส่สุดไม่กั๊กตั้งแต่วินาทีแรกที่บอลโลกหนนี้เริ่มต้นขึ้น

และทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี 

– 6 นัดซัดไป 5 ประตู นำดาวซัลโวร่วม…กับ เอ็มบัปเป้

– เป็นแมนออฟเดอะแมตช์ 4 ครั้ง

– ยิงในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นสถิติ 11 ประตู

– ยิงในทีมชาติ 16 ลูกในปี 2022 มากกว่าที่เคยทำได้ในตลอดเส้นทางค้าแข้ง

– ยิงให้ทีมชาติ 15 ประตูจากการลงสนาม 10 นัดหลัง

เมื่อทำมาดีขนาดนี้ จึงมีสิทธิ์เต็มที่ที่ เมสซี่ จะวาดฝันถึงการผงาดแชมป์โลกเป็นครั้งแรก–และครั้งสุดท้ายของตัวเอง ภายหลังต้องอกหักกับ อาร์เจนติน่า มาตลอดนับแต่เข้าร่วมเล่นในปี 2006 เป็นต้นมา

ยังหมายถึงว่า ถ้าไม่ได้ครั้งนี้ ก็ไม่ได้อีกแล้ว

ส่วนทาง เอ็มบัปเป้ อาจจะผ่านการคว้าแชมป์โลกมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อนก็จริง แต่ในเมื่อมาตรฐานการเล่นมันเหนือกว่าใคร ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เขาจะได้ต่อสู้เพื่อการคว้าแชมป์โลก 2 สมัยซ้อน 

คราวที่แล้วยิง 4 ประตู คราวนี้กดอีก 5 เท่ากับหัวหอกนินจาเต่าพลังเอเนอร์ไจเซอร์อย่างเขา ทำไปแล้วถึง 9 ลูกในรอบสุดท้าย  

แล้วกับ 5 ลูกที่คู่พี่น้องคู่นี้ยิงเท่ากันอยู่เป๊ะๆ เรื่องว่าใครจะยิงเพิ่มได้ในนัดชิงชนะเลิศ บางทีอาจไม่สำคัญมากไปกว่าทีมของใครเป็นฝ่ายชนะในท้ายที่สุด 

เพราะฉะนั้น โปรดอดใจรอเกมนี้ในทุกชั่วขณะลมหายใจ และเมื่อเกมมาถึง ก็โปรดจับตาดูให้ดีอย่าได้คลาดสายตา

ระหว่าง เมสซี่ ที่ตามหาแชมป์โลกมาทั้งชีวิต กับ เอ็มบัปเป้ ที่จับจ้องแชมป์สมัย 2 ของตัวเองตาเป็นมัน

ระหว่าง อาร์เจนติน่า ที่ต้องการแชมป์โลกสมัย 3 กับ ฝรั่งเศส ที่พร้อมสู้สุดใจเพื่อไปให้ถึงบัลลังก์หน 3 ก่อนคู่แข่ง

แล้วประวัติศาสตร์หน้าใหม่จะเกิดขึ้น

ไม่ว่ามันจะเป็น อาร์เจนติน่า หรือ ฝรั่งเศส ที่ได้ชูโทรฟี่ขึ้น ณ ลูเซล ไอคอนิก สเตเดี้ยม ก็ตาม…

ไกด์เถื่อน

ผลการพบกันระหว่าง อาร์เจนติน่า กับ ฝรั่งเศส ที่ผ่านมา

แม้ ฝรั่งเศส จะโค่น อาร์เจนติน่า ลง 4-3 ในการเจอกันหนล่าสุด สี่ปีก่อนที่รัสเซีย (นำสบาย 4-2 ก่อนโดนจี้เพิ่มช่วงท้าย) แต่ว่าอันที่จริง ประวัติการดวลกันของสองชาตินี้ เป็นทาง อาร์เจนติน่า ที่เหนือกว่า ด้วยการชนะ 6 นัด (เสมอ 3 ฝรั่งเศสชนะ 3) อันรวมถึงฟุตบอลโลกเมื่อครั้งอดีต 1930 และ 1978 ที่ฟ้าขาวเป็นผู้ชนะทั้งสองเกมเช่นกัน

และอีกอย่างที่สำคัญคือ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์การพบกันของคู่นี้ ไม่เคยลากยาวไปถึงช่วงต่อเวลาหรือดวลจุดโทษใดใดมาก่อนเลย เรียกว่าตัดสินจบครบถ้วนกันในเพียง 90 นาทีเท่านั้น!

ฟุตบอลโลก 1930 อาร์เจนติน่า ชนะ 1-0

กระชับมิตร 1965 เสมอ 0-0

กระชับมิตร 1971 ฝรั่งเศส ชนะ 4-3

กระชับมิตร 1971 อาร์เจนติน่า ชนะ 2-0

อินดิเพนเดนซ์ 1972 เสมอ 0-0

กระชับมิตร 1974 อาร์เจนติน่า ชนะ 1-0

กระชับมิตร 1977 เสมอ 0-0

ฟุตบอลโลก 1978 อาร์เจนติน่า ชนะ 2-1

กระชับมิตร 1986 ฝรั่งเศส ชนะ 2-0

กระชับมิตร 2007 อาร์เจนติน่า ชนะ 1-0

กระชับมิตร 2009 อาร์เจนติน่า ชนะ 2-0

ฟุตบอลโลก 2018 ฝรั่งเศส ชนะ 4-3